วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ก๋วยเตี๋ยวเชียงตุง

ชื่อก็บอกอยู่ว่า ก๋วยเตี๋ยวเชียงตุง เป็นสูตรของเมืองเชียงตุง ประเทศพม่าเเน่นอน ก๋วยเตี๋ยวเชียงตุงชามนี้ คุณhotsia เค้าไปทานที่เวียงเเหงมาค่ะ มีโอกาสต้องไปชิมบ้างเเล้วเรา
หน้าตาน่าทานมาก ทานกับไข่ต้ม รสชาตจะออกไปทางเปรี้ยวๆหวานๆ เพราะตามสูตรของเค้านั้น ใช้ มะเขือเทศเเละหอมใหญ่ มาปรุงรส เพื่อทำเป็นน้ำราดเส้นใหญ่ที่ลวกรอไว้ 


ภาพเเละข้อมูลจาก www.hotsia.com 

วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

น้อยหน่าเพชรปากช่อง

พิ่งเคยได้ทานน้อยหน่าเพชรปากช่อง เเม้ว่าที่ซื้อมาจะตกกิโลละ 95 บาท เเพงไปหน่อย เเต่ว่าพอทานเเล้วก็ชื่นใจ หวานอร่อยมากๆ เป็นน้อยหน่าหนังที่เนื้อเยอะ  เเละมีเมล็ดนิดเดียว 

วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

หมี่พันลับเเล


หมี่พันลับแล ที่เรียกเช่นนี้ เพราะว่าเป็นอาหารพื้นบ้านของคนลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ส่วนประกอบหลักของหมี่พันคือแผ่นข้าวแคบ  ที่มีทั้งแบบแผ่นแป้งเปล่าๆ แบบใส่งาดำ และแบบใส่พริกขี้หนูโขลก ขั้นตอนการทำก็คลุกเส้นหมี่ขาวที่ลวกเสร็จแล้ว กับ คะน้าลวก ถั่วงอกลวก กุยช่าย กากหมู กระเทียมเจียว แล้วก็ปรุงรสด้วยเครื่องปรุงคล้ายยำนั่นแหละค่ะ น้ำปลา น้ำส้ม น้ำตาล พริกป่น แล้วนำหมี่คุลกมาวางบนแผ่นข้าวแคบแล้วม้วนก็จะได้หมี่พัน ความอร่อยของหมี่พันอยู่ที่ความเหนียวและรสเค็มของแผ่นข้าวแคบ ผสานกับรสเปรี้ยวหวานเค็มของหมี่คุลกและความกรอบมันของกากหมู  
หมี่ที่คลุกเตรียมไว้พัน

จิ้นลุง

จิ้นลุง คือ การนำหมู หรือเนื้อบด มาปั้นเป็นลูกกลมๆ  เป็นอาหารไทยใหญ่ จิ้นคือเนื้อ หรือหมู ก็ได้ ลุง แปลว่า กลม ในการทำ จิ้นลุงนั้น ก็จะมีเครื่องปรุง และวิธีการทำคร่าวๆดังนี้ นำต้นหอม ผักชี พริกขี้หนู  หอมแดง มะเขือเทศ ผักชีฝรั่ง กระทียม ขิง มาหั่นหรือสับหรือโขลก  ให้ละเอียด แล้วนำไปคลุกให้เข้ากัน กับหมู หรือเนื้อบด ปรุงรสด้วยเกลือ จากนั้นเราก็ปั้นเป็นก้อนกลมๆ เท่าลูกชิ้น แล้วนำไปวางเรียงในกระทะ ใส่น้ำมันพืชเล็กน้อย ใส่น้ำเปล่าลงผสมพอประมาณ แต่ไม่ต้องให้ท่วม นำกระทะตั้งไฟปานกลางจนสุก รสชาตจะเผ็ดปนเค็มเล็กน้อย  กินกับข้าวสวยร้อนๆ อร่อยมากๆค่ะ

วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ไข่อุ๊บ อุ๊บไข่ อาหารไทยใหญ่

อุ๊บ คือ การนำส่วนผสมต่างๆ มาใส่รวมกันเเล้วนำไปตั้งบนไฟจนสุก อุ๊บไข่ ก็เช่นเดียวกัน
       วิธีการทำ  นำไข่ไก่ไปต้มให้สุกก่อน เครื่องปรุง ก็จะมี หอมแดง  พริกแห้ง  ถั่วเน่าแผ่น   ( คนไทยใหญ่จะใช้ถั่วเน่าเเทนกะปิค่ะ ) ขมิ้นผง  มะเขือเทศ   น้ำมันพืช  ผักชี  ขั้นเเรกก็ ย่างถั่วเน่าแผ่นให้เหลือง พริกแห้งแกะเมล็ดออกแช่น้ำร้อน หั่นมะเขือเทศเป็นชิ้นเล็กๆ  นำถั่วเน่าแผ่นที่ย่าง หอมแดง พริกแห้งแกะเมล็ด มะเขือเทศหั่นและขมิ้นผงมาโขลกรวมกัน
    ตั้งกระทะใส่น้ำมันพืช พอน้ำมันร้อนได้ที่ นำเครื่องปรุงที่โขลกไว้ทั้งหมดลงผัดจนมีกลิ่นหอม คนให้เข้ากัน แล้วจึงนำไข่ที่ผ่าซีกจัดเรียงในกระทะ พลิกกลับไปมาจนเครื่องแกงเข้ากันดี รอจนน้ำแห้งตักใส่จานโรยผักชี ก็จะได่เมนูไข่อุ๊บที่อร่อย หอม น่าทาน เเละมีประโยชน์มากด้วยค่ะ 

วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วัดน้ำฮู ปาย เเม่ฮ่องสอน

ออกจากหมู่บ้านสันติชล ก็ตรงมานี่เลย วัดน้ำฮู นี่เป็นครั้งเเรกที่ได้มา เเต่คนที่มาด้วยสงสัยมาหลายครั้งละ

วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระอุ่นเมือง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของเมืองปาย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปแบบสิงห์สาม (ศิลปะล้านนา) ปางมารวิชัย ทำด้วยโลหะทองสัมฤทธิ์ อายุประมาณ 500 ปี มีลักษณะพิเศษคือ พระเศียรกลวง พระโมฬีปิดเปิดได้ และมีน้ำซึมออกอยู่เสมอ ประวัติการสร้างไม่แน่นอน แต่เชื่อกันว่าสร้างโดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งในอดีต เชื่อว่าเคยใช้เส้นทางแถบนี้ในการเดินทัพไปต่อสู้กับพม่า ในการก่อสร้างพระพุทธรูปนี้เพื่อเป็นพระราชกุศลถวายพระพี่นางพระนางสุพรรณกัลยา นอกจากนี้ยังมีเจดีย์อนุสาวรีย์สถานพระนางสุพรรณกัลยาอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ ส่วนด้านหน้าจะมีบึงน้ำ เป็นศาลาที่ประดิษฐานของ รูปปั้น พระนเรศวรมหาราข ไว้ให้นักท่องเที่ยวบูชา
วัดน้ำฮู ปาย
พระอุ่นเมืองที่ว่ามีน้ำซึมออกมาจากเศียรค่ะวัดน้ำฮู ปาย
ที่หน้าวัดจะมีศาลาอยู่กลางบึง เป็นที่ประดิษฐานหุ่นจะลอง ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ข้าวเเรมฟืนทอด ข้าวฟืนทอด อาหารไทยใหญ่

    ข้าวฟืน ข้าวเเรมฟืน ถ้าเอามาทอดเเบบนี้ เป็นอาหารทานเล่น ของชาวไทยใหญ่ สีเหลืองของเเป้งทำมาจากถั่วลันเตา 
   ข้าวฟืน ข้าวแรมฟืน  หรือข้าวแรมคืน เป็นอาหารของชาวไทยใหญ่ ซึ่งนำมาจาก สิบสองปันนา ประเทศจีน เมื่อนานมาแล้ว จนมาแพร่หลายใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย และในภาคเหนือตอนบนของไทย มีรสชาต เผ็ด เปรี้ยว หวาน ทำได้ทั้งอาหารว่างและอาหารหลัก เป็นอาหารเจ ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวไทยใหญ่ ไทลื้อ และไทเขิน   คำว่า ข้าวแรมฟืน คงเพี้ยนมาจาก ข้าวแรมคืน ซึ่งชื่อนี้ก็คงมาจากวิธีการทำนั่นเอง  ซึ่งก็มีส่วนประกอบหลักอยู่ 2 อย่าง คือตัวแป้งข้าวแรมฟืน และเครื่องปรุง
    ตัวข้าวแรมฟืนเดิมมี 2 ชนิด คือข้าวแรมฟืนขาว และข้าวแรมฟืนถั่วลันเตา ปัจจุบันได้เพิ่มข้าวแรมฟืนถั่วดิน (ถั่วลิสง) ด้วย ข้าวแรมฟืนขาวทำจากการโม่ข้าวเจ้าแข็งทำแป้ง แล้วนำน้ำแป้งที่ตกตะกอนมาเคี่ยวกับปูนขาวจนสุก จากนั้นเทใส่ภาชนะใดก็ได้ ทิ้งไว้ 1 คืน วันรุ่งขึ้นแป้งจะแข็งตัว ตามรูปภาชนะที่บรรจุ
    ส่วนข้าวแรมฟืนถั่วนั้นจะมีสีเหลือง ซึ่งทำจากเม็ดทั่วลันเตา แช่จนเม็ดขยายแล้วจึงนำมาโม่ จากนั้นนำตะกอนส่วนหนึ่งมาเคี่ยวจนเดือด สังเกตดูว่าตะกอนเริ่มเหนียวจึงเทใส่ภาชนะแต่ไม่นิยมทำค้างคืนหรือแรมคืน เพราะหากทิ้งไว้นานแป้งนี้จะเหลว ไม่จับตัวแข็งเหมือนข้าวแรมฟืนขาวเมื่อได้แป้งข้าวแรมฟืนแล้ว ก็นำมาหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆ เตรียมไว้ 

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ข้าวหนุกงา ข้าวคลุกงา

                 ข้าวหนุกงา ของกิ๋นคนเมือง ทำง่ายๆ เเต่ประโยชน์นักขนาดเจ้า 
คำว่า หนุก นั้น เเปล ว่า คลุก  ก็คือ ข้าวคลุกงา  ส่วนมากจะนิยมทำกินกันในช่วงหน้าหนาว ตอนเช้าๆ ใช้ข้าวเนียวนึ่งสุกใหม่ๆ งาก็นิยมใช้งาขี้ฆ้อน ที่เป็นงาเม็ดกลมๆสีน้ำตาลเทาเเหละค่ะ เอามาคั่วไฟอ่อนๆจนหอมฉุย เเล้วโขลกกับเกลือ ให้ละเอียดเเล้วถึงใส่ข้าวเหนียวร้อนๆลงโขลก รวมกันเเละนวดจนเป็นเนื้อเดียวกัน ทานตอนร้อนๆจะอร่อยมาก 

ข้าวปุก ข้าวเหนียวตำงา

ข้าวปุก ข้าวเหนียวตำงา เป็นขนมของชาวไทยใหญ่ หากินได้ที่ปาย เเละทางภาคเหนือ ทำมาจากข้าวเหนียว เอามาตำผสมงาดำ ให้เป็นเนื้อเดียวกัน เเล้วจึงนำไปปิ้ง ทานตอนร้อนๆอร่อยมากค่ะ

หมู่บ้านสันติชล ปาย จังหวัดเเม่ฮ่องสอน

อยู่ตรงนี้เเล้ว มีสองที่ ที่จะไป คือวัดน้ำฮู กับ หมู่บ้านสันติชล 
หมู่บ้านสันติชล ศูนย์วัฒนธรรมจีนยูนาน เป็นหมู่บ้านของชาวจีนยูนานที่อพยพมาอยู่มาตั้งรกราก เเละที่นี่มีการพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ด้วยการอนุรักษ์ศิลปะเเละวัฒนธรรมของคนจีนยูนาน มีการปลูกชา เเละอาศัยในบ้านดิน เเละที่นี่ยังมีคอกม้าให้เช่าขี่ด้วย มีโฮมสเตย์ มีการชิมชา เเละขายของที่ระลึกต่างๆ 

วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ท่าสองยาง ตาก

ท่าสองยางเมืองเล็กๆในขุนเขา เป็นอำเภอชายเเดนไทย-พม่าของจังหวัดตาก  มีเพียงเเม่น้ำเมยเป็นเขตเเดน ภูมิประเทศเป็นป่าเขาสูง ตามเเนวเทือกเขาถนนธงชัย มีประชากรหลายเชื้อชาติ เเต่ส่วนใหญ่เป็นคนไทยพื้นราบ ทำไร่เป็นอาชีพหลัก


ตื่นเเต่เช้า เพื่อไปเดินตลาด เเละดูบ้านดูเมืองของท่าสองยาง  ที่นี่ก็จะมีหลายเชื้อชาติปนกัน ทั้งพม่า กะเหรี่ยง คนเมือง
ที่ชอบมากก็เป็นบรรยากาศบ้านไม้เก่าๆ ก่อนจะเดินชมหมู่บ้าน เติมกาเเฟเข้าร่างกายก่อนให้สดชื่นๆ เพราะเราเป็นมนุษย์กาเเฟ 55 
                                กาเเฟโบราณหน้า่ตลาด ไข่ลวกสองฟอง เพิ่มพลัง
                                      บรรยากาศบ้านเรือนเก่าๆ มีเสน่ห์นะ 

ม่อนกิ่วลม ท่าสองยาง

ท่าสองยางเมืองเล็กๆ ของจังหวัดตาก ติดกับพม่ามีเพียงเเม่น้ำเมยกั้นไว้เท่านั้น

ที่นี่เป็นเมืองที่มีภูเขาล้อมรอบ ช่วงหน้าหนาว ม่อนนี้จะเป็นทะเลหมอกที่สวยงามเเละดึงดูดนักท่องเที่ยว
   พอดีไปช่วงปลายหนาวเเละไปตอนบ่ายๆเลยไม่มีหมอกให้เห็น เเต่ก็เเวะเก็บรูปซักหน่อย
ระหว่างทางไปม่อนก็มีน้ำตกด้วยเเหละค่ะ 

ไปไหว้พระธาตุเเม่เย็น ชมวิวสวยๆตอนเช้า

มาเที่ยวปายทั้งทีต้องมาให้ได้สิน่า มายืนชมวิวทิวทัศน์ มาไหว้พระธาตุเเม่เย็น เห็นเค้าบอกให้มาตอนเช้าๆ จะสวยมากๆ นี่ก็มาตอน 6 โมงเช้า ไม่ผิดหวังเลย ที่รีบตื่นเเละบิดมอเตอร์ไซต์มาที่นี่
ที่วัดพระธาตุแม่เย็นนั้น ช่างเงียบ สงบ ร่มเย็น ร่มรื่น เราสามารถชื่นชมทัศนียภาพของเมืองปาย ได้อย่างทั่วถึงและกว้างไกล สุดลูกหูลูกตา 
วัดพระธาตุเเม่เย็น เป็นวัดที่เก่าเเก่ของปาย เเต่ไม่ปรากฎหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง ทางทิศตะวันออกของอำเภอปาย ภายในวัดมีโบสถ์ เเละเจดีย์ทรงระฆัง ฐานกลม เเละยอดฉัตรเป็นเเบบเจดีย์พม่า

วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

โต๊ะสะเบื๊อก อาหารลั๊ว

"โต๊ะสะเบื๊อก" เป็นอาหารขึ้นชื่อมากของชาวลั๊วหรือละว้า หรือจะเรียกว่า ยำเนื้อหมูก้อน่าจะได้นะ เพราะในภาษาลั๊ว หรือละว้า คำว่าโต๊ะ เเปลว่าเนื้อหมู สะเบื๊อก ก้อคือการยำ เมื่อมีงานบุญต่างๆ  งานเเต่งงาน งานเลี้ยงผีบรรพบุรุษ  ชาวลั๊วจะนิยมฆ่าหมู เพื่อเป็นการเซ่นไหว้ เเละนำหมูมาปรุงเป็นอาหารเพื่อเลี้ยงกันในงาน
นำเนื้อหมูมาหั่นเป็นชิ้น เเล้วปรุงกับเครื่องปรุงที่ ที่ซอยไว้ พริกขี้หนู หอมเเดง ใบผักไผ่ ต้นหอมผักชี ใส่เกลือ รสชาตจะเผ็ดเค็ม
ทานกับน้ำซุบ

พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์


     พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ตั้งอยู่บนดอยบวกห้า ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง ใช้เส้นทางเดียวกันกับพระธาตุดอยสุเทพ พระตำหนักฯอยู่เลยจากวัดพระธาตุดอยสุเทพ เป็นระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร พระตำหนักภูพิงค์ฯ เป็นพระตำหนักประทับในวโรกาสที่เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับแรมที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในเขตภาคเหนือ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ใช้เป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะที่เสด็จฯเยือนประเทศไทยซึ่งแต่เดิมจะประทับรับรองแต่ในพระนครหลวงเท่านั้น
  โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2504 ในครั้งแรกได้ก่อสร้างเฉพาะองค์พระตำหนักที่ประทับและเรือนรับรองเท่านั้น ส่วนอาคารอื่นๆได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมต่อมาในภายหลัง ภายในพระตำหนักฯ มีสถานที่น่าชม ดังนี้ เรือนปีกไม้ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เรือนรับรอง พลับพลาผาหมอนและสวนเฟิร์น อ่างเก็บน้ำ พระตำหนักต่างๆ และหอพระ โดยระหว่างเส้นทางเยี่ยมชมจะผ่านสวนกุหลาบเป็นระยะ 
    โดยปกติแล้วจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมทุกวัน  แต่ทั้งนี้จะงดการเข้าชมพระตำหนักฯ  ระหว่างเสด็จแปรพระราชฐาน[ประมาณเดือนมกราคมถึงต้นเดือนมีนาคม)นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อสอบถามทีพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ โทร.+66 5322 3065 หรือ www.bhubingpalace.org
    จำหน่ายบัตรทุกวันเวลา 8.30-11.30 และ13.00-15.30 น.ค่าเข้าชม คนไทย: ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท (กรุณาแต่งกายสุภาพ) และมีบริการรถไฟฟ้านำชม ค่าบริการ 300 บาท/คัน(ไม่เกิน 3 ท่าน)


เวียงกุมกาม

    เป็นเมืองโบราณที่พญามังราย (พ่อขุนเม็งราย) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1829 โดยให้ขุดคูเวียงทั้ง 4 ด้านเพื่อไขน้ำแม่ปิงให้ขังไว้ในคูเวียง โบราณสถานที่ปรากฎอยู่ในเวียงกุมกาม และใกล้เคียง จากการสำรวจพบว่ามีอยู่ 20 แห่ง ทั้งที่เป็นซากโบราณสถาน และเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่ แต่ละแห่งอยู่กระจัดกระจายกัน มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 21-22 

  ปัจจุบันเวียงกุมกาม อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเชียงใหม่ ประมาณกิโลเมตรที่ 3-4 ถนนเชียงใหม่-ลำพูน ในเขตตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี และอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำปิงด้านทิศตะวันออก การเดินทาง เข้าทางตู้ยามหนองหอยและตรงมาจนทะลุแยกเกาะกลางป่ากล้วยตรงต่อไปจนถึงตู้ยามเจดีย์เหลี่ยม 

   ชาวบ้านจัดบริการรถราง และรถม้า เพื่อพานักท่องเที่ยวชมโบราณสถานเวียงกุมกามจำนวน 10 แห่ง ได้แก่ วัดเจดีย์เหลี่ยม วัดธาตุน้อย วัดช้างค้ำ วัดธาตุขาว วัดพญามังราย วัดพระเจ้าองค์ดำ กู่ป้าด้อม วัดปู่เปี้ย วัดหนานช้าง และวัดอีก้าง ใช้เวลานำชมประมาณ 45 นาที ค่าบริการรถม้า 250 บาท รถรางคนละ 15 บาทหรือเหมาคันประมาณ 400 บาท นอกจากนี้ยังรับจัดกิจกรรมเลี้ยงขันโตกและสาธิตภูมิปัญญาพื้นบ้านบริเวณเวียงกุมกาม สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. +668 6193 5049, +668 1027 9513 

ประวัติวัดเจดีย์เหลี่ยม 
     วัดเจดีย์เหลี่ยม หรือ เจดีย์กู่คำ สร้างขึ้นในรัชสมัยของพญามังราย เมื่อปี พ.ศ. 1831 กล่าวคือ หลังจากที่พระองค์ได้ยกทัพมาตีเมืองลำพูนแล้วทรงมอบเมืองลำพูนให้อำมาตย์คนสนิทชื่อ อ้ายฟ้า ครองเมืองแทน ส่วนพระองค์ก็ยกทัพไปสร้างเมืองใหม่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ได้ 5 ปี จึงยกทัพไปสร้างเมืองใหม่อยู้ใกล้ฝั่งแม่น้ำปิง เมื่อปี พ.ศ. 1820 ให้ชื่อเมืองนี้ว่าเวียงกุมกาม จนถึงปี พ.ศ. 1830 พระองค์ทรงให้ช่างไปถ่ายแบบพระเจดีย์มาจากวัดจามเทวีลำพูน เพื่อนำมาสร้างให้เป็นที่สักการะแก่คนทั้งหลาย 

   หลังจากนั้นมาเป็นเวลาหลายร้อยปี วัดนี้ได้ถูกทอดทิ้งให้รกร้าง จนถึงปี พ.ศ. 2451 มีคหบดีชาวพม่าคนหนึ่งได้มาเห็นเข้า เกิดความเลื่อมใส ได้บูรณะขึ้นใหม่ โดยให้ช่างชาวพม่าเป็นผู้ดำเนินการ จึงมีศิลปแบบพม่าเข้ามาแทนที่ศิลปแบบขอม ซึ่งเป็นแบบดั้งเดิม คงมีแต่โครงสร้างที่ยังเป็นรูปเดิมอยู่เท่านั้น

อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย

   อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ตั้งอยู่ตรงทางขึ้นดอยสุเทพ ก่อนถึงน้ำตกห้วยแก้ว ครูบาศรีวิชัยเป็นนักบุญแห่งล้านนาไทยผู้เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวเชียงใหม่และประชาชนโดยทั่วไป ผู้ที่จะขึ้นไปดอยสุเทพมักจะแวะนมัสการอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยเพื่อความเป็นสวัสดิมงคล ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้ริเริ่มชักชวนให้ประชาชนชาวเหนือร่วมแรงร่วมใจกันสร้างถนนจากเชิงดอยขึ้นไปสู่วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ โดยเริ่มลงมือ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 และแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2478 รวมระยะทางจากเชิงดอยไปถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพ 10 กิโลเมตร
     นอกจากนี้ผู้ที่สนใจตักบาตรยามเช้าที่เชียงใหม่ที่มีพระภิกษุเดินเป็นสายนับร้อยรูป สามารถมาที่เชิงดอยสุเทพ บริเวณลานครูบาศรีวิชัย ที่นี่จะมีพ่อค้าแม่ค้านำอาหารและน้ำให้บริการถึงที่ โดยผู้แสวงบุญไม่ต้องเตรียมของสำหรับใส่บาตรเลย พระภิกษุจำนวนมากนี้ เป็นพระเณรจากวัดศรีโสดา ซึ่งเป็นวัดที่ชาวเขานิยมมาบวชเรียนจำนวนมาก ผู้มาใส่บาตรควรแต่งกายสุภาพ

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ข้าวกันจิ๊น

  ข้าวกันจิ๊นหรือจิ๊นส้มเงี้ยว ข้าวเงี้ยว  การนำข้าวสวยไปคลุกเนื้อหมูสับบด บางสูตรก็จะใส่เลือดด้วยนำไปห่อใบตองเเล้วนึ่งให้สุก   เเละมีการทานทั้งเเบบดิบเเละสุก ราดหน้าด้วยกระเทียมเจียว บีบมะนาว หอมเเดง หอมหัวใหญ่ พริกทอด ผักชี ต้นหอม  นิยมคือการทานกับขนมจีนน้ำเงี้ยว หรือเอาไปคลุกผสมกันเเล้วทานจะอร่อยมาก


ขนมจีนน้ำเงี้ยว 

บทความที่ได้รับความนิยม

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม